วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ปี 2559

พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ปี 2559


ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ปี 2559



โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เริ่มใช้บังคับ พ.ค.2560 นี้ คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อขอให้ศาลสั่ง "บล็อก-ปิด" เว็บไซต์ยังอยู่ แม้เคยถูกลงชื่อค้านถึง 300,000 รายชื่อ
วานนี้ (24 ม.ค. 2560) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 หรือ "พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์" ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบไปเมื่อปลายปี 2559 และได้รับการโปรดเกล้าฯ จากพระมหากษัตริย์แล้ว อย่างไรก็ตาม กว่าที่กฎหมายนี้จะมีผลใช้บังคับก็อีก 120 วันถัดไป หรือช่วงปลาย พ.ค.2560
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มีอาทิ
- เพิ่มเติมความผิดของการส่งสแปมเมล์ โดยกำหนดโทษปรับ 200,000 บาท (มาตรา 11)
- แก้ไขให้ไม่สามารถนำไปฟ้องฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาได้ (มาตรา 14(1))
- แก้ไขให้ยกเว้นความผิดสำหรับผู้ให้บริการได้หากยอมลบข้อมูลที่ผิดกฎหมาย (มาตรา 15)
- เพิ่มเติมให้ผู้ใดที่มีข้อมูลซึ่งศาลสั่งให้ทำลายอยู่ในครอบครองจะต้องทำลายไม่เช่นนั้นจะได้รับโทษด้วย (มาตรา 16/2)
- เพิ่มเติมให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ ขึ้นมาพิจารณาว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดที่จะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สามารถส่งฟ้องศาลเพื่อระงับหรือลบข้อมูลดังกล่าวได้ (มาตรา 20) ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาหลายมาตราใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นี้ จะต้องให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ออกกฎกระทรวงหรือประกาศ เพื่อกำหนดรายละเอียดการใช้บังคับต่อไป

Image 
คำบรรยายภาพนายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ของ สนช. เคยกล่าวว่า กฎหมายนี้ได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น เช่น มาตรา 14(1) ที่เดิมใช้ฟ้องหมิ่นประมาท ก็แก้ให้ชัดเจนว่าหมายถึงการปลอมตัวออนไลน์เพื่อไปหลอกเงิน หรือ phishing เท่านั้น ซึ่งจะทำให้ต่อไปคดีหมิ่นประมาทที่ฟ้องตามมาตรานี้ถูกศาลยกฟ้องทั้งหมด โดยคดีน่าจะหายไปราว 50,000 คดี หรือมาตรา 15 ที่ให้ผู้ให้บริการไม่มีความผิดทันทีหากยอมลบข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ส่วนมาตรา 20 ในคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ 9 คน ก็ให้มีตัวแทนจากภาคเอกชนถึง 3 คน และการกลั่นกรองก่อนจะถึงศาล ก็มีถึง 3 ขั้นตอน ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการ คณะกรรมการ และ รมว.ดีอี

ด้านนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา กล่าวว่า บทบัญญัติของกฎหมายไม่ได้น่ากลัว สิ่งที่น่ากลัวคือการใช้อำนาจโดยมิชอบของภาครัฐ ที่ผ่านมาสำนักข่าวอิศราเคยถูกผู้ให้บริการแจ้งขอให้ปิด URL ของข่าวที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลนี้ 2 ข่าว โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้มีอำนาจ แต่ไม่ระบุตัวผู้ออกคำสั่ง ถือเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 20 ระงับข้อมูลที่ถูกพิจารณาว่าผิดกฎหมาย แต่กลับใช้อำนาจผ่านผู้ให้บริการแทนที่จะไปศาล
สำหรับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นี้ เคยถูกคัดค้านอย่างหนัก ก่อนการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ในที่ประชุมของ สนช. ช่วงปลายปี 2559 โดยมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 300,000 คนในเว็บไซต์ change.org เรียกร้องให้ สนช.ชะลอการพิจารณาไปก่อน ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายเป็นห่วงคือมาตรา 20/1 ที่ให้คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์เสนอศาลบล็อกหรือปิดเว็บไซต์ใดก็ได้ ถ้าเห็นว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี แม้ไม่ผิดกฎหมายอื่นใด ซึ่งนับแต่เป็นร่าง พ.ร.บ. จนที่ประกาศลงในเว็บไซต์ราชกิจจาฯ เนื้อหาในส่วนนี้ก็ยังอยู่ แม้จะมีการย้ายจากมาตรา 20/1 มาเป็นมาตรา 20 และเพิ่มจำนวนคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ จาก 5 คน เป็น 9 คน ก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น